วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

ระวังการหลอกลวงในการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ






โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
Creative Commons License




ภาพจาก newstatesman.com [http://bit.ly/5lF5wb]

จากข้อมูล CNN (2010) สามารถสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีความรุนแรงในระดับ 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งเทียบได้กับพลังของการระเบิดนิวเคลียร์หลายลูก โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเกิดขึ้นลึกลงไปในพื้นดิน 8 กิโลเมตรและห่างจากเมืองหลวงของเฮติเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น และสามารถรับความสะเทือนจากแผ่นดินไหวไปไกลถึง 200 กิโลเมตรทีเดียว มีคนประมาณ 1/3 (ประมาณ 3 ล้านคน) ของประชากรเฮติทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้  และอาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 คน

แน่นอนสำหรับความคิดแรกของคนที่มีกำลังด้านการเงินคือเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร แต่ละประเทศต่างๆออกมากล่าวถึงแผนการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆมากมาย แต่เชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะขยายตัวเป็นวงกว้างทั้งเรื่องของสาธารณสุข ครอบครัว และอีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต ในด้านความช่วยเหลือระดับประเทศดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก แต่ความช่วยเหลือจากประชาชนจากประเทศต่างๆที่กำลังจะไหลรินไปยังเฮติ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

ในยุคของอินเตอร์เน็ตครองเมืองและกลายเป็นหนึ่งในสิ่งในชีวิตประจำวันที่ประชากรเป็นพันล้านคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสรีและใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร ในการเรียน ในการทำงาน แม้แต่ในงานอดิเรก การเข้าอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ใช้โทรศัพท์มือถือเข้าใช้งานในอินเตอร์เน็ตเพื่อติดต่อกับเครือข่ายสังคมของตนเองผ่านบริการเครือข่ายสังคมยอดนิยมอย่างเช่น Facebook และ Twitter ซึ่งภาพแรกๆของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ ก็มาจากผู้ใช้งานใน Twitter

กลลวงฉ้อฉลต่างๆที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้โดยอ้างแหล่งที่มาจากองค์กรการกุศลต่างๆ เป็นเรื่องที่พวกเราจำเป็นต้องตระหนักและระวังตัวเพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อจากความเห็นอกเห็นใจและต้องการจะช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ของเราที่เฮติ ล่าสุด FBI ได้ออกคำเตือนออกมาเพื่อเตือนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงที่ใช้เครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง

FBI (2010) ออกมาประกาศเตือนดังนี้

- อย่าตอบรับอีเมล์ลวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มี URL Link ที่มากับอีเมล์ (ส่วนใหญ่จะอ้างถึงองค์กรการกุศลต่างๆครับ)

- ให้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนหากมีบุคคลหรือองค์กรขอบริจาคเงินผ่านอีเมล์หรือเครือข่ายสังคม (อย่างเช่นใน Facebook และ Twitter ครับ เมื่อเช้าผมเห็นมีให้ส่งข้อความผ่านมือถือไปโดยเขาจะคิดเงินเป็นค่าบริจาค)

- ให้ตรวจสอบจนแน่ใจว่าองค์กรการกุศลนั้นเป็นของจริง มีตัวตนจริงๆ (ใน Twitter จะต้องมีคำว่า "Verified" สำหรับ User Account ขององค์กรการกุศลนั้นด้วยครับ ถึงจะเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง

- ระวังอีเมล์ที่บอกว่าเป็นภาพความเสียหายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งมาจากคนที่เราไม่รู้จัก โดยอาจมีไฟล์แนบที่มีไวรัสอยู่ (ซึ่งผลที่ตามมาคืออาจโดนแฮกข้อมูลไปได้ครับ ควรแน่ใจว่ามีโปรแกรมตรวจจับไวรัสคอมพิวเตอร์และมีการ Update ให้ถูกต้องเอาไว้ด้วยนะครับ)
- หากต้องการจะบริจาคเงิน ให้ติดต่อไปที่องค์กรการกุศลเหล่านั้นโดยตรง อย่างเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นอันขาด

- อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลด้านการเงินแก่ใครเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้ถูกนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้และเกิดความเสียหายแก่ตัวเราได้

ยังไงก็ระวังตัวด้วยนะครับ ผู้ประสงค์ร้ายมักจะใช้ความดีของคนนี้แหละครับเป็นตัวเล่นงานและหลอกลวงเรา หากมีข้อสงสัยหรือความเสียหายเกิดขึ้น รีบแจ้งความทันทีครับ

เอกสารอ้างอิง
- McCarth, C (2010), "In urgent times, avoiding online charity scams", CNET.COM, http://bit.ly/70JUvw
- FBI (2010),"Haitian Earthquake Relief Fraud Alert",FBI.GOV, http://bit.ly/8XasgQ
- CNN (2010), "Complete Coverage on Haiti Earthquake",CNN.COM, http://bit.ly/4ANhxi
- NewStatesman (2010), "Haiti earthquake: in pictures...", New Statesman, http://bit.ly/5lF5wb

Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-Noncommercial-No Derivative Works 3.0 Thailand License.