วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ยุคถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ (ตอนที่ 1)

โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
Creative Commons License


ภาพจาก wikimedia commons http://bit.ly/80PLnJ


บทคัดย่อ
ในสังคมที่เจริญแล้ว หนังสือทุกประเภทถือได้ว่าเป็นสื่อที่ช่วยให้ความรู้และความบันเทิงของผู้อ่านมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนแล้วแต่เป็นนักอ่านตัวยง อินเตอร์เน็ตทำให้โลกทั้งโลกและวิถีทางเดิมๆที่คนได้ทำมาตั้งแต่อดีตก็เริ่มจะเปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆถูกลดบทบาทลง ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นจะต้องปิดกิจการลงไป แต่ในทางกลับกัน อินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ที่ดูจะมีอนาคตกว่า

บทเต็ม
หากจะลองย้อนไปนึกถึงครั้งแรกที่เราเริ่มอ่านหนังสือ หรือไม่ก็ตอนที่พ่อแม่ของเราอ่านหนังสือให้พวกฟัง ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงจำไม่ได้ทีเดียวว่า หนังสือเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เมื่อไร มากน้อยแค่ไหน เพราะเท่าที่จำความได้ หนังสือก็อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว ในสังคมที่เจริญแล้ว หนังสือทุกประเภทถือได้ว่าเป็นสื่อที่ช่วยให้ความรู้และความบันเทิงของผู้อ่านมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนแล้วแต่เป็นนักอ่านตัวยง ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนขึ้นรถ ลงเรือ ไปเหนือหรือล่องใต้ เราจะสามารถพบเห็นคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือนิยาย หรือแม้แต่หนังสือวิชาการ ร่วมเดินทางไปด้วยแทบทุกหนแห่ง ย้อนกลับมามองที่เมืองไทย มุมนั่งในร้านน้ำชาแบบดังเดิมเก่าๆ หรือแม้แต่มุมของร้านกาแฟสมัยใหม่ก็ยังพบเห็นคนที่อ่านหนังสือเช่นกัน

จากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต โลกทั้งโลกและวิถีทางเดิมๆที่คนได้ทำมาตั้งแต่อดีตก็เริ่มจะเปลี่ยนไป มีผู้คนจำนวนมากที่เลิกการอ่านหนังสือพิมพ์ที่เมื่อเสร็จสิ้นการใช้ประโยชน์แล้ว อาจจะมีจุดจบกลายเป็นถุงกล้วยแขก ไม่ก็เป็นกระดาษเอาไว้เช็ดกระจก กลายเป็นการอ่านข่าวสารและข้อมูลต่างๆผ่านเว็บไซต์ที่มีอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Weblog ที่มีที่มาจากคำว่า Web Log  ซึ่งหมายถึงการเก็บความเคลื่อนไหวต่างๆบนเว็บ ปัจจุบันจะใช้คำว่า Blog แทน เว็บไซต์ที่ผู้เขียนกำลังจัดทำอยู่นี้ก็เช่นกัน จัดอยู่ในกลุ่มของ Blog ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการสื่อที่จะเข้ามาเปิดโอกาสและเป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารและข้อมูลของผู้ที่ชอบงานเขียนต่างๆให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือถ่ายทอดความรู้ต่างๆสู่สาธารณะชนซึ่งไม่สามารถทำได้ในอดีต เพราะการพิมพ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงและถูกจำกัดวงอยู่ที่กลุ่มเล็กๆเท่านั้น สำหรับนักเขียนหน้าใหม่แล้ว การสื่อสารด้วยการเขียน Blog ผ่านช่องทางของสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

ถึงแม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆถูกลดบทบาทลง ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นจะต้องปิดกิจการลงไป แต่ในทางกลับกัน อินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ที่ดูจะมีอนาคตกว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า เพราะไม่จำเป็นจะต้องมีโรงพิมพ์ก็สามารถตีพิมพ์ในงานที่ต้องการนำเสนอได้ หากจะลองวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของการสูญพันธุ์ของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น คงเป็นการลดการพิมพ์ที่เป็นกระดาษมากกว่าหรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้การจัดจำหน่ายแบบดิจิตอลแทน ถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนช่องทางหรือสื่อในการสื่อสารกับผู้อ่านมากกว่า

เราลองย้อนไปมองถึงสื่อต่างๆที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วมากพอสมควรทีละอย่างกัน

  • สื่อที่เกี่ยวข้องกับเพลง
    ในยุคก่อนหน้านี้ หากเราต้องการเลือกซื้อเพลงฟัง เราคงต้องหาซื้อแผ่นเสียง เทปคลาสเซ็ท หรือที่คุณภาพเสียงดีๆหน่อย ก็คงต้องเป็น ซีดี
  • สื่อที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์
    เมื่อก่อนหากต้องการซื้อซอฟต์แวร์มาใช้ กล่องที่ใส่ซอฟต์แวร์จะมีขนาดใหญ่และหนักที่บรรจุไปด้วยหนังสือคู่มือการลงโปรแกรมและการใช้งานแบบย่อๆ ซึ่งมาพร้อมกับแผ่นดิกส์เก็ต หรือไม่ก็ซีดี หรืออาจจะเป็นดีวีดีในปัจจุบัน
  • สื่อที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์
    แน่นอนคงจะจำม้วนวีดีโอเทปที่มีขนาดใหญ่ แล้วกลายมาเป็นแผ่นเลเซอร์ดิกส์ แผ่นดีวีดี และแผ่นบลูเรย์ในปัจจุบัน
  • สื่อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์
    ต้องเป็นกระดาษล้วนๆ ที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หนาบ้าง บางบ้าง ที่ออกมาให้เลือกอย่างมากมาย
ถ้าลองนับรวมมูลค่าทางธุรกิจรวมกันในสื่อต่างๆทั้งหมดที่กล่าวมี มีมูลค่าทางธุรกิจที่มหาศาลที่มีคนต้องการกระโจนเข้ามาแบ่งส่วนของตลาดอยู่เสมอๆ

การเข้ามาของสื่ออินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อต่างๆเหล่านั้น กลับมาศึกษาและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เปิดช่องทางให้สามารถเข้าถึงคนในทั่วทุกมุมโลกและสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่าสามารถปรับให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอลและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทันที และที่สำคัญคือบริการเหล่านี้ สามารถเปิดให้บริการโดยอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง

ในตอนต่อไป เรามาดูกันว่าสงครามของการแย่งฐานที่มั่นของผู้ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจเหล่านี้เป็นอย่างไรในตอนที่สองเร็วๆนี้


เอกสารอ้างอิง
  • Wauters, R. (2010), "44% Of Google News Visitors Scan Headlines, Don’t Click Through", Techcrunch.com, http://bit.ly/74RPcN
  • Schonfeld, E (2010), "The Media Bundle Is Dead, Long Live The News Aggregators", Techcrunch.com, http://bit.ly/89xREW
  • Hedengren, T.D.(2010), "The Media is Dying: An Interview With the People Behind the Twitter Account", http://bit.ly/7LZ2F7


Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-Noncommercial-No Derivative Works 3.0 Thailand License.