วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

iPad - It Won't Change The World, But It Will Change Our Lifestyle.

โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
Creative Commons License


หากมองไปแล้ว คงไม่ใช่โลกที่กำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากการเปิดตัวของ iPad แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือสไตล์การใช้ชีวิตของคน ที่อุปกรณ์เทคโนโลยีชิ้นใหม่นี้ จะทำให้วิถีทางในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ศูนย์การการเชื่อมต่อและการเรียนรู้ เริ่มได้จากเครื่องมือชิ้นนี้


ภาพจาก www.apple.com/ipad

เปิดตัวไปแล้วประมาณหนึ่งอาทิตย์สำหรับ Apple iPad ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนจำนวนมากพูดกันในเรื่องของทั้งข้อดีและข้อเสียของเครื่องเล่นใหม่ชิ้นนี้ของ Apple เราลองมาดู Spec คร่าวๆของเครื่อง iPad กันว่ามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ

ถ้าไม่รวมเรื่องของขนาดความจุ iPad จะมีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นที่รองรับ Wi-Fi และ รุ่นที่รองรับ 3G
โดยคุณสมบัติอื่นๆของทั้งสองรุ่นจะเหมือนกัน

รุ่นที่รองรับ Wi-Fi
  • วางจำหน่าย : .......................มีนาคม 2010
  • จอภาพ: ...............................9.7 นิ้ว จอ LCD โดยมี LED Backlight
  • ความละเอียดของจอภาพ: ..1024x768 ความละเอียดต่อจุด 132 จุดต่อนิ้ว
  • หน่วยประมวลผล: ...............1GHz Apple A4
  • การเก็บข้อมูล: ....................16, 32, 64 GB Internal Flash
  • การรองรับไร้สาย: ...............Wi-Fi (802.11 abgn) และ Bluetooth 2.1 + EDR
  • ระบบปฏิบัติการ: ..................iPhone OS 3.2
  • Battery: ...............................10 ช.ม.
  • น้ำหนัก: ...............................680 กรัม

รุ่นที่รองรับ 3G
  • วางจำหน่าย : ...........................................เมษายน 2010
  • จอภาพ: ....................................................9.7 นิ้ว จอ LCD โดยมี LED Backlight
  • ความละเอียดของจอภาพ: .......................1024x768 ความละเอียดต่อจุด 132 จุดต่อนิ้ว
  • หน่วยประมวลผล: ....................................1GHz Apple A4
  • การเก็บข้อมูล: .........................................16, 32, 64 GB Internal Flash
  • การรองรับไร้สาย: ....................................Wi-Fi (802.11 abgn) และ Bluetooth 2.1 + EDR
  • การรองรับการโอนข้อมูลไร้สาย (3G).......UMTS/HSDPA , GSM/EDGE ใช้ SIM แบบ ไมโครซิม
  • ระบบปฏิบัติการ: ........................................iPhone OS 3.2
  • Battery: .....................................................10 ช.ม.
  • น้ำหนัก: .....................................................730 กรัม

นอกจากนี้ทุกรุ่นยังรองรับการทำงานหลักอื่นๆ ดังนี้
  • เซ็นเซอร์ตรวจจับสัญญานต่างๆคือ
    - เซ็นเซอร์ตรวจการเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ
    - เซ็นเซอร์ตรวจความเข้มของแสง
    - เซ็นเซอร์ตรวจหาทิศแบบดิจิตอล
    - เซ็นเซอร์บอกพิกัดของเครื่อง (Wi-Fi, Assisted GPS, Cellular)
  • การควบคุม
    - Multi-touch touchscreen สามารถกำหนดจุดในการเลือกบนหน้าจอได้มากกว่า 1 จุด
  • Input และ Output Interface
    - มีส่วนต่อไปยังอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมทั้ง Keyboard สำหรับ iPad ด้วย
    - มีส่วนต่อไปยังจออื่นๆ และโปรเจ็คเตอร์ได้
  • การรองรับไฟล์เสียง
    - AAC, Protected AAC, MP3, AIFF, WAV
  • การรองรับไฟล์ภาพ
    - M4V, MP4, MOV,
  • การรองรับงานเอกสาร
    - JPG, TIFF, GIF, DOC, DOCX, HTM, HTML, KEY, NUMBERS, PAGES, PDF, PPT, PPTX, TXT, RTF, VCF, XLS, XLSX
ตั้งแต่เปิดตัวมา เสียงของนักวิจารณ์มีทั้งสองฝั่งเลยครับ ทั้งชื่นชม ทั้งผิดหวัง แน่นอนครับ ไม่ว่าเรื่องอะไรมันก็ต้องมีสองด้านอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ได้รับการวิจารณ์มากที่สุดคือการที่ iPad ไม่สามารถใช้่งาน Adobe Flash Content ต่างๆได้ นั่นหมายความว่า iPad จะไม่สามารถ Browse เว็บไซต์ต่างๆที่ใช้ Adobe Flash อยู่ไม่มากไม่น้อย แค่หลายสิบหรืออาจหลายร้อยล้านเว็บไซต์ที่ใช้งาน Adobe Flash อยู่ในปัจจุบันนี้ เว็บไซต์ใหญ่ๆที่ใช้ Adobe Flash เช่น Youtube.com, Facebook.comMiniclip.com เป็นต้น

บทวิเคราะห์
สำหรับในมุมมองของผู้เขียนเองนั้น มันเป็นเรื่องใหญ่จริงๆด้วยครับ เพราะถ้า iPad ออกแบบมาให้เป็นเฉพาะเครื่องอ่าน eBooks ที่ไปเทียบเคียงกับ Amazon Kindle ด้วยนั้น คงจะไม่เป็นปัญหามาก เพราะจะอยู่ในระบบปิดซึ่งเน้นไปที่เรื่องของ eBooks เป็นหลัก แต่นี้จากมุมที่ Apple เปิดตัวนั้น มันชี้ชัดเจนว่า Apple iPad เป็นมากกว่าเครื่องอ่าน eBooks ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การท่องเว็บไซต์ต่างๆ ที่เปรียบได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไปแล้วนั้น กลายเป็นข้อรำคาญใจและเป็นอุปสรรคในการท่องเว็บ

แต่ก็มองในแง่ดีว่า สำหรับวงการธุรกิจที่ไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูถาวร วันหนึ่ง iPad ก็จะสามารถใช้งาน Adobe Flash ได้อย่างแน่นอน แต่ก็นั่นอีกหล่ะว่าจะเร็วหรือนานเท่าไร งานนี้ผลประโยชน์คงไม่ลงตัวกันมากกว่า

ในด้านคุณลักษณะเด่นที่ Apple พยายามปั้นให้ iPad คือ
    ภาพจาก www.apple.com/ipad
  • ความสามารถในการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ
    ด้วยหน้าจอประมาณ 10 นิ้วของ iPad นั้น ผู้เขียนเชื่อว่ามีความใหญ่เพียงพอที่จะเข้าใช้งานเว็บไซต์และอ่านข้อมูลต่างๆบนเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี หากมองไปว่าเว็บคือแหล่งของข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนตอนนี้กลายมาอยู่ในมือของเราได้ง่ายขึ้นด้วย iPad โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ โดยผ่านเครือข่าย 3G ยิ่งทำให้อัตราการเติบโตของเว็บไซต์ในลักษณะของ Content Provider ย่อมขยายตัวตามไปด้วย
  • ความสามารถในด้านการสื่อสารผ่านอีเมล์และบฏิทินนัดหมายปัจจุบันผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมักมีอีเมล์ใช้งานเป็นของตัวเองอยู๋แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะอีเมล์องค์กรที่มักจะใช้งานผ่าน Client-Based Email Application หรือจะเป็น Web-based Email นั้น iPad ก็บอกว่าสามารถรองรับการใช้งานได้
  • ความสามารถด้านมัลติมีเดียไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มรูปภาพ วีดีโอ หรือ ดนตรี นั้น iPad ก็มีบริการผ่าน iTunes ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ Apple ให้บริการสำหรับผู้ใช้งาน iPod และ iPhone อยู่แล้ว
  • ความสามารถด้าน Application สำหรับใช้งานด้านต่างๆ
    มี Application รวมไปถึงเกมส์ต่างๆ ของ iPod และ iPhone อยู่ไม่น้อยกว่า 140,000 โปรแกรมและจะเพิ่มเป็นประมาณ 300,000 Application ในสิ้นปีนี้ทำให้ผู้ใช้งานของ iPad สามารถเลือกใช้โปรแกรมเพื่อใช้งานได้เลย
  • ความสามารถด้าน EBooksซึ่งในการสนับสนุนการใช้งานด้าน EBooks ของ iPad นี้ Apple ได้เปิดให้บริการด้านการจำหน่ายหนังสือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมจากที่ได้ให้บริการด้านการดาวน์โหลดเพลงและภาพยนตร์มาแล้ว งานนี้ Amazon เจอคู่แข่งขันอย่างจัง
เราคงต้องมาดูกันว่า iPad จะไปได้ไกลมากน้อยเท่าไร อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า Apple มีแผนที่จะวางตลาดแล้ว สำหรับผู้เขียนเองนั้น ในมุมของผู้บริโภคแล้ว ผู้เขียนมองว่า iPad สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในยุคดิจิตอลครองเมืองได้อย่างดี ศูนย์กลางการสื่อสารและบันเทิงอย่างครบวงจร ในราคาที่วัยรุ่นไทยบอกว่าจิ๊บๆ เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของความทันสมัยที่ได้ จะได้ไม่ตกยุค

ถึงแม้ว่า iPad จะไม่วสามารถเปลี่ยนแปลงโลกของเราได้ภายในระยะเวลาอันสั้นนี้ แต่ที่แน่นอนคือมันจะกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยน LifeStyle ของคนยุคนี้ไปได้อย่างแน่นอน


เอกสารอ้างอิง

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

iPad - A Whole New Revolution for Future LifeStyle

โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
Creative Commons License

ภาพจาก www.apple.com/ipad/gallery




เปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับ Apple Tablet " iPad ". ในการเปิดตัว iPad ของ Apple ครั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือการเปิดตลาดด้านการให้บริการหนังสือของ Apple โดยมีการตั้ง iBook ขึ้นมาสำหรับให้บริการการ Download หนังสือในโมเดลที่คล้ายกับ iTunes และ App Store ของ Apple ในมุมของผู้พัฒนา Content นี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการทำธุรกิจของอนาคตจริงๆ ขุมทองนี้ ใครมีความสามารถและมีไอเดียใหม่ๆ ก็มีสิทธิเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ทุกคน


เปิดตัวไปแล้วครับอย่างเป็นทางการสำหรับ Apple Tablet ที่มีชื่อคล้ายๆกับพี่น้องในตระกูลที่คลานตามกันออกมา " iPad ". ดูเหมือนว่าอาณาจักรที่ Apple พยายามสร้างขึ้นมาในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ จะครอบคลุมสิ่งต่างๆที่อยู่บนความต้องการของมนุษย์ยุคเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ iPod, iPhone และตัวล่าสุด iPad มันไม่ได้เป็นเพียงความต้องการที่จะขายอุปกรณ์ Gadget ที่ดูแล้วทันสมัย และมูลค่าของธุรกิจของการขาย Content หรือเนื้อหาและสิ่งต่างๆที่อยู่ในเครื่อง Gadget เหล่านั้นมีมหาฬารอย่างแน่นอน

กลับไปดูสองบทความที่แล้ว ผู้เขียนพยายามแสดงให้เห็นว่า สิ่งต่างๆที่เคยเป็นของมันมาดีๆเมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามา สิ่งต่างๆเหล่านั้นอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสภาพดั้งเดิมของมันไป ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของดนตรี ที่เริ่มเปลี่ยนสภาพจาก CD มาเป็นไฟล์ดิจิตอล, ภาพยนตร์ ที่เปลี่ยนจาก DVD มาเป็นไฟล์ดิจิตอล, ขนาดซอฟต์แวร์ที่เป็นดิจิตอลอยู่แล้ว จากที่เป็นกล่องและแผ่นดิกส์หรือ CD มากมาย กลายมาเป็นดิจิตอล และล่าสุดหนังสือจากที่เป็นกระดาษ ก็ยังกลายมาเป็นดิจิตอล เหมือนกัน

ในความเป็นจริงแล้ว ด้านหนังสือ เว็บไซต์ของผู้จำหน่ายหนังสือรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Amazon.com และ BN.com ก็มีหนังสือดิจิตอลจำหน่ายมานานแล้ว ในจุดเริ่มต้นจะขายเห็น Format ของ PDF ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังเคยซื้อมาอ่านอยู่บ่อยๆ แต่การแข่งขันด้าน Platform ของการทำหนังสือ eBook นั้น ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ไมโครซอฟต์เองก็มีผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Microsoft Reader ซึ่งไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ส่วนในด้าน Magazine นั้น บริษัท Zinio ก็ได้ให้บริการด้านการจำหน่ายหนังสือออนไลน์มานานแล้ว แต่อยู่ในวงที่จำกัด

ในการเปิดตัว iPad ของ Apple ครั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือการเปิดตลาดด้านการให้บริการหนังสือของ Apple โดยมีการตั้ง iBook ขึ้นมาสำหรับให้บริการการ Download หนังสือในโมเดลที่คล้ายกับ iTunes และ App Store ของ Apple นั้นเอง

ในอาณาจักรของการให้บริการ Content ของ Apple จะแบ่งการให้บริการออกเป็นดังนี้



  • iTunes เป็นบริการ Download ที่เกี่ยวข้องกับภาพและเสียง เช่น เพลง ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ รายการกระจายเสียงต่างๆ เป็นต้น




  • App Store เป็นบริการ Download ที่เกี่ยวข้องกับ โปรแกรม (Application) ที่โดยมากกลุ่มผู้ใช้งานจะมีทั้งผู้ที่ใช้ iPod, iPhone และ iPad




  • iBook เป็นบริการ Download ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ Textbook นิตยสารต่างๆ นิยาย ฯลฯ

มาถึงขณะนี้ Apple กลายเป็นผู้ให้บริการ Digital Content ที่ใหม่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย นี่คืออนาคตของศุนย์กลางของผู้บริโภคสินค้าที่มีกลุ่มผู้ใช้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยคุณสมบัติที่เข้าถึงความต้องการของผู้ใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆที่ Apple ได้ออกแบบมาที่มีลักษณะของ User Interface ที่ดีและน่าตื่นเต้น ทำให้มีสินค้าต่างๆขายได้ดีอย่างที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน และที่สำคัญทำให้ Apple สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้ผ่านศุนย์กลางที่รวบรวม Digital Content ที่มโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ในมุมของผู้พัฒนา Content ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ และหนังสือ นี่คือช่องทางที่ดีที่สุดที่ทำให้สินค้าของตนเองสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ของ Apple ที่มีจำนวนมากมายอยู่ทั่วทุกมุมโลกโดยใช้ช่องทางของอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางในการกระจายสินค้า นี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการทำธุรกิจของอนาคตจริงๆ ขุมทองนี้ ใครมีความสามารถและมีไอเดียใหม่ๆ ก็มีสิทธิเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ทุกคน

ในตอนหน้ามาลองวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆของ Apple iPad กันครับ

Gallery
Say Hello to Kindle DX with Global Wireless
ภาพจาก Amazon.com

BN.COM's nook, ภาพจาก CNET.COM

เอกสารอ้างอิง

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

การถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ (ตอนที่ 2)

โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
Creative Commons License

itune_promotion.jpg picture by drparin
ภาพจาก Apple.com


การคืบเข้ามาของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ช่องทางสำหรับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวตาม ด้วยการวิเคราะห์จากปัจจัยด้านเทคโนโลยี การเพิ่มขึ้นของการใช้งานมือถือแบบ Smart Phone การเปิดตัวอุปกรณ์ที่สามารถอ่านอีบุ๊ค การมีรูปแบบของอีบุ๊คที่เป็นมาตรฐาน และการใช้โครงข่ายการสื่อสารแบบ 3G ทำให้ความเป็นไปได้ในการสูญพันธ์ของสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิมๆมีสูงมาก


การเข้ามาของสื่ออินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อต่างๆเหล่านั้น กลับมาศึกษาและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เปิดช่องทางให้สามารถเข้าถึงคนในทั่วทุกมุมโลกและสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่าสามารถปรับให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอลและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทันที และที่สำคัญคือบริการเหล่านี้ สามารถเปิดให้บริการโดยอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง


ในตอนที่ 2 นี้ เราลองมาดูว่า อะไรที่จะเป็นสิ่งที่เน้นย้ำถึงปรากฏการณ์ของความเสื่อมถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้กระดาษเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าปี 2553 นี้ จะเป็นปีที่การเริ่มต้นของความเสื่อมถอยแห่งความนิยมในสื่อกระดาษอย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ในความเป็นจริงอาจมีอยู่หลายปัจจัยที่จะทำให้คำที่ผู้เขียนคาดการณ์นั้นเป็นจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และปัจจัยอีกหลายๆอย่าง อย่างไรก็ตามในบทความนี้ ผู้เขียนลองวิเคราะห์ในมุมของปัจจัยแห่งเทคโนโลยีเท่านั้น




  • การใช้งานโทรศัพท์ Smart Phone ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มของผู้ใช้งาน Apple iPhone, Google Android และ Windows Mobile โดยเฉพาะอย่างยิ่ง iPhone ที่มีส่วนแบ่งตลาดของ Smart Phone อยู่ราว 60% และการก้าวคืบเข้ามาแบบก้าวกระโดดของ Google Android ที่มีผู้ผลิตโทรศัพท์หลายรายให้การสนับสนุนและนำมาเป็นระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ของตนเอง ซึ่งโทรศัพท์เหล่านี้สามารถใช้ในการอ่านเอกสารอิเลคโทรนิกได้อย่างสบาย


    ภาพจาก Apple.com
      
    ภาพจาก cnet.com

    • จากการเปิดตัวของ คอมพิวเตอร์พกพาแบบบางเฉียบที่เราเรียกกันว่า Netbook นั้นยังไม่ได้เป็นคำตอบที่ชัดเจน แต่การเข้ามาของ Apple Tablet หรือตามที่คาดการณ์กับว่าอาจใช้ชื่อ iSlate อาจเป็นที่มาของการสูญพันธุ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้กระดาษเป็นหลัก สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันแบบ Global Economy ที่ไม่มีพรหมแดนกั้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา นี่ยังไม่รวม Amazon.com ซึ่งเปิดตัวและวางจำหน่าย เครื่องอ่านเอกสารอิเลคทรอนิกส์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Kindle สำหรับยักษ์ใหญ่วงการร้านขายหนังสือและหนังสือออนไลน์อย่าง Barnes & Nobles ก็มีเครื่องอ่าน E-Reader ของตัวเองในชื่อ Nook

      The Kindle Store: More Than 400,000 Books
      ภาพจาก Amazon.com




      ภาพจาก bn.com



    • Platform สำหรับการพัฒนา E-Book มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากความนิยมในการเขียน Blog ในอินเตอร์เน็ตแล้ว E-Book ที่มีจำหน่ายในลักษณะที่เป็นรูปแบบออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาบน Platform ของ Adobe Acrobat หรือ PDF ที่เป็นที่นิยมกัน นอกเหนือไปจากนี้ค่ายร้านขายหนังสือออนไลน์ดังๆอย่าง Amazon.com และ BN.com ก็มีรูปแบบมาตรฐานของ E-Book ของตัวเองออกมา

    •  การใช้ 3G อย่างกว้างขวาง ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ทำได้อย่างกว้างขวางและมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดของการโอนถ่ายข้อมูลที่น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อต่างๆที่ได้ปรับเปลี่ยนมาให้บริการในรูปแบบของดิจิตอลแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่หนังสืออิเลคทรอนิก 
    จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้เกิดความสะดวกสะบายในการเลือกซื้อหนังสือมาอ่านโดยไม่จำเป็นจะต้องไปร้านหนังสือเหมือนเมื่อก่อน และหนังสือก็ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกระดาษอีกต่อไป แน่นอนมันอาจดูแล้วช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าของโลกลง แต่นั่นก็หมายความถึงการรุกรานธุรกิจอีกด้านโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ตอนหน้า เราลองมาดูกันว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นมาจากกระดาษจะเป็นอย่างไร ร้านหนังสือที่เราเคยอ่านกันมาหละจะทำอย่างไร ในการรุกก้าวของธุรกิจแบบ Global Economy จะทำให้ร้านหนังสือที่มีตั้งอยู่มากมายหายไปมากน้อยแค่ไหน และลองมาติดตามถึงแนวทางความคิดต่างๆของผู้ให้บริการสื่อออนไลน์เจ้าใหญ่ๆว่าจะมีทิศทางอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวของเรากันครับ

    เอกสารอ้างอิง

    • AFP (2010), "Spotlight turns to Apple's rumoured tablet", AFP via News.com.au, http://bit.ly/aurkBy
    • Chen, B.X. and Tweney, D.F. (2010), "Apple Event to Focus on Reinventing Content, Not Tablets", Wired.com, http://bit.ly/cZ0sZE
    • Chen, B.X. (2009), "Everything We Know About Apple’s Touchscreen Tablet", Wired.com, http://bit.ly/9znkSm
    • McCarthy, C. (2010), "Amazon: Kindle app store on the way", CNET, http://bit.ly/d0MvdD
    • Ogg, E. (2010), "McGraw-Hill: Tablet will be based on iPhone OS", CNET, http://bit.ly/9vsM1n
  • วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

    ยุคถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ (ตอนที่ 1)

    โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
    Creative Commons License


    ภาพจาก wikimedia commons http://bit.ly/80PLnJ


    บทคัดย่อ
    ในสังคมที่เจริญแล้ว หนังสือทุกประเภทถือได้ว่าเป็นสื่อที่ช่วยให้ความรู้และความบันเทิงของผู้อ่านมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนแล้วแต่เป็นนักอ่านตัวยง อินเตอร์เน็ตทำให้โลกทั้งโลกและวิถีทางเดิมๆที่คนได้ทำมาตั้งแต่อดีตก็เริ่มจะเปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆถูกลดบทบาทลง ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นจะต้องปิดกิจการลงไป แต่ในทางกลับกัน อินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ที่ดูจะมีอนาคตกว่า

    บทเต็ม
    หากจะลองย้อนไปนึกถึงครั้งแรกที่เราเริ่มอ่านหนังสือ หรือไม่ก็ตอนที่พ่อแม่ของเราอ่านหนังสือให้พวกฟัง ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงจำไม่ได้ทีเดียวว่า หนังสือเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เมื่อไร มากน้อยแค่ไหน เพราะเท่าที่จำความได้ หนังสือก็อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว ในสังคมที่เจริญแล้ว หนังสือทุกประเภทถือได้ว่าเป็นสื่อที่ช่วยให้ความรู้และความบันเทิงของผู้อ่านมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนแล้วแต่เป็นนักอ่านตัวยง ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนขึ้นรถ ลงเรือ ไปเหนือหรือล่องใต้ เราจะสามารถพบเห็นคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือนิยาย หรือแม้แต่หนังสือวิชาการ ร่วมเดินทางไปด้วยแทบทุกหนแห่ง ย้อนกลับมามองที่เมืองไทย มุมนั่งในร้านน้ำชาแบบดังเดิมเก่าๆ หรือแม้แต่มุมของร้านกาแฟสมัยใหม่ก็ยังพบเห็นคนที่อ่านหนังสือเช่นกัน

    จากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต โลกทั้งโลกและวิถีทางเดิมๆที่คนได้ทำมาตั้งแต่อดีตก็เริ่มจะเปลี่ยนไป มีผู้คนจำนวนมากที่เลิกการอ่านหนังสือพิมพ์ที่เมื่อเสร็จสิ้นการใช้ประโยชน์แล้ว อาจจะมีจุดจบกลายเป็นถุงกล้วยแขก ไม่ก็เป็นกระดาษเอาไว้เช็ดกระจก กลายเป็นการอ่านข่าวสารและข้อมูลต่างๆผ่านเว็บไซต์ที่มีอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Weblog ที่มีที่มาจากคำว่า Web Log  ซึ่งหมายถึงการเก็บความเคลื่อนไหวต่างๆบนเว็บ ปัจจุบันจะใช้คำว่า Blog แทน เว็บไซต์ที่ผู้เขียนกำลังจัดทำอยู่นี้ก็เช่นกัน จัดอยู่ในกลุ่มของ Blog ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการสื่อที่จะเข้ามาเปิดโอกาสและเป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารและข้อมูลของผู้ที่ชอบงานเขียนต่างๆให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือถ่ายทอดความรู้ต่างๆสู่สาธารณะชนซึ่งไม่สามารถทำได้ในอดีต เพราะการพิมพ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงและถูกจำกัดวงอยู่ที่กลุ่มเล็กๆเท่านั้น สำหรับนักเขียนหน้าใหม่แล้ว การสื่อสารด้วยการเขียน Blog ผ่านช่องทางของสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

    ถึงแม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆถูกลดบทบาทลง ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นจะต้องปิดกิจการลงไป แต่ในทางกลับกัน อินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ที่ดูจะมีอนาคตกว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า เพราะไม่จำเป็นจะต้องมีโรงพิมพ์ก็สามารถตีพิมพ์ในงานที่ต้องการนำเสนอได้ หากจะลองวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของการสูญพันธุ์ของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น คงเป็นการลดการพิมพ์ที่เป็นกระดาษมากกว่าหรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้การจัดจำหน่ายแบบดิจิตอลแทน ถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนช่องทางหรือสื่อในการสื่อสารกับผู้อ่านมากกว่า

    เราลองย้อนไปมองถึงสื่อต่างๆที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วมากพอสมควรทีละอย่างกัน

    • สื่อที่เกี่ยวข้องกับเพลง
      ในยุคก่อนหน้านี้ หากเราต้องการเลือกซื้อเพลงฟัง เราคงต้องหาซื้อแผ่นเสียง เทปคลาสเซ็ท หรือที่คุณภาพเสียงดีๆหน่อย ก็คงต้องเป็น ซีดี
    • สื่อที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์
      เมื่อก่อนหากต้องการซื้อซอฟต์แวร์มาใช้ กล่องที่ใส่ซอฟต์แวร์จะมีขนาดใหญ่และหนักที่บรรจุไปด้วยหนังสือคู่มือการลงโปรแกรมและการใช้งานแบบย่อๆ ซึ่งมาพร้อมกับแผ่นดิกส์เก็ต หรือไม่ก็ซีดี หรืออาจจะเป็นดีวีดีในปัจจุบัน
    • สื่อที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์
      แน่นอนคงจะจำม้วนวีดีโอเทปที่มีขนาดใหญ่ แล้วกลายมาเป็นแผ่นเลเซอร์ดิกส์ แผ่นดีวีดี และแผ่นบลูเรย์ในปัจจุบัน
    • สื่อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์
      ต้องเป็นกระดาษล้วนๆ ที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หนาบ้าง บางบ้าง ที่ออกมาให้เลือกอย่างมากมาย
    ถ้าลองนับรวมมูลค่าทางธุรกิจรวมกันในสื่อต่างๆทั้งหมดที่กล่าวมี มีมูลค่าทางธุรกิจที่มหาศาลที่มีคนต้องการกระโจนเข้ามาแบ่งส่วนของตลาดอยู่เสมอๆ

    การเข้ามาของสื่ออินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อต่างๆเหล่านั้น กลับมาศึกษาและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เปิดช่องทางให้สามารถเข้าถึงคนในทั่วทุกมุมโลกและสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่าสามารถปรับให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอลและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทันที และที่สำคัญคือบริการเหล่านี้ สามารถเปิดให้บริการโดยอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง

    ในตอนต่อไป เรามาดูกันว่าสงครามของการแย่งฐานที่มั่นของผู้ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจเหล่านี้เป็นอย่างไรในตอนที่สองเร็วๆนี้


    เอกสารอ้างอิง
    • Wauters, R. (2010), "44% Of Google News Visitors Scan Headlines, Don’t Click Through", Techcrunch.com, http://bit.ly/74RPcN
    • Schonfeld, E (2010), "The Media Bundle Is Dead, Long Live The News Aggregators", Techcrunch.com, http://bit.ly/89xREW
    • Hedengren, T.D.(2010), "The Media is Dying: An Interview With the People Behind the Twitter Account", http://bit.ly/7LZ2F7


    วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

    เมื่อยักษ์ใหญ่โดนเล่นงานจาก Hacker แล้วคนตัวเล็กๆอย่างเราควรทำอย่างไร

    โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
    Creative Commons License


    ภาพจาก Jason Lee/Reuters [http://bit.ly/8xPl0Z]


    หากจะกล่าวถึงคนที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ทุกวี่ทุกวัน คงไม่มีใครไม่รู้จักยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Search Engine ที่ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ในปัจจุบันที่ชื่อ "Google" นอกจากการให้บริการทางด้าน Search Engine ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลแล้วนั้น บริการอื่นๆของ Google ยังครอบคลุมถึงการให้บริการด้านต่างๆที่ล้วนแต่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคน เช่น
    • Gmail อีเมล์ฟรียอดนิยมที่เสนอพื้นที่ในการเก็บอีเมล์ด้วยพื้นที่มหาศาล ใน Concept ที่ว่า เราไม่จำเป็นจะต้องกังวลถึงการลบอีเมล์ทิ้งอีกเลย นอกจากนี้ปัจจุบันยังกลายเป็นบริการหนึ่งที่ผนวกเข้ากับโทรศัพท์มือถือในตระกูล Android อีกด้วย
    • Google Maps ที่ทำให้เราสามารถดูแผนที่ในการเดินทางต่างๆในระดับ Street Level ได้ ดูปริมาณและเส้นทางจราจรเพื่อวางแผนการเดินทาง ซึ่งอาจทำให้ Handheld Navigator ที่ใช้ติดรถยนต์อาจจะสูญพันธุ์ไปได้
    • Picasa บริการซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการภาพถ่ายที่ใช้งานได้อย่างง่ายดายและเว็บไชต์สำหรับการแบ่งบันรูปภาพเพื่อให้เพื่อนและครอบครัวที่อยู่ไกลสามารถเข้าถึงภาพถ่ายของเราได้อย่างง่ายดาย
    • Google Earth และ Google Sky เป็นนวัตกรรมที่ทำให้เราสามารถไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆทั่วโลกทำได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส
    • Android Mobile Phone Platform ซึ่งเป็น Open Source Platfrom ที่กำลังร้อนแรงที่สุดสำหรับค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือต่างๆกำลังให้ความสนใจพัฒนาโทรศัพท์เข้ามาแข่งขันกันในปัจจุบัน
    • ฯลฯ
    หากจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Google แล้วนั้น ผมเชื่อว่าคงต้องใช้เวลาเขียนอธิบายเป็นวันๆก็ไม่จบ ปัจจุบัน Google มีพนักงานเกือบๆ 20,000 คน พัฒนาระบบงานที่ให้บริการต่างๆออกเป็นภาษาต่างๆมากมาย และมีสำนักงานประจำอยู่ทั่วโลก

    โดยปกติแล้ว การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในบริษัทต่างๆผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องราวเนื่องจากไม่ต้องการเสียภาพพจน์และความเชื่อมั่นของลูกค้านั่นเอง (Mills, E., 2010B)

    อย่างไรก็ตาม Google ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทได้ถูกแฮกเกอร์ที่มีแหล่งที่มาจากประเทศจีนเข้าโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gmail ซึ่งเป็นระบบอีเมล์และเป็นเกตเวย์หลักในการเข้าถึงบริการของ Google เกือบทั้งหมด ในการถูกโจมตีครั้งนี้ Google ออกมายอมรับว่าได้ถูกขโมยทรัพย์สินทางปัญญาไป แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นอะไร (Drummond, D., 2010) Google แจ้งว่าแฮกเกอร์เข้าโจมตีโดยแฮกอีเมล์ของกลุ่มต่อต้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีเพียงบัญชีอีเมล์เพียง 2 รายเท่านั้นที่แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก เช่น วันที่ของการสร้างบัญชีผู้ใช้นี้และหัวข้อของอีเมล์ แต่ปฏิเสธว่าได้มีการเข้าถึงเนื้อหาของอีเมล์ของบัญชีผู้ใช้ที่โดยแฮกครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีอีก 34 บริษัท รวมไปถึง Yahoo, Symantec, Adobe ก็โดนโจมตีด้วยเช่นกัน (Helft, M. , 2010)

    Google ยังกล่าวอีกว่า จากการที่โดนโจมตีครั้งนี้ Google ได้ทำการศึกษาการโจมตีเพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในบัญชีผู้ใช้และบริการต่างๆของ Google นอกจากนี้ยังแนะทำให้ผู้ใช้ทั่วไปทำการ Update Patch ต่างๆของทั้งระบบปฏิบัติการ โปรแกรมอินเตอร์เน็ตเบราว์เซอร์ รวมไปถึงโปรแกรมต่างๆที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ตทั้งหมด

    ล่าสุดไมโครซอฟต์ได้ออกโรงเตือนถึงช่องโหว่ของโปรแกรม Internet Explorer ว่าอาจเป็นสาเหตุของการเข้าโจมตี Google รวมไปถึงบริษัทต่างๆของอเมริกาในช่วงเวลานี้ (Mills, E. , 2010A) ท่านใดที่ใช้ Microsoft Windows อยู่ให้รีบไป Update Patch ต่างๆด้วยนะครับ


    คำแนะนำ
    ผมขอแนะนำการป้องกันเบื้องต้นออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
    1. บุคคลทั่วไป/ผู้ใช้งานทั่วไป
      ในการป้องกันตัวเองนั้น จริงอยู่ที่ผู้ใช้งานทั่วไปมักจะไม่ได้ถูกโจมตีเหมือนกับที่ Google โดน แต่ผู้ใช้ทั่วไปอาจเป็นตัวกลางหรือสะพานเชื่อมเพื่อใช้ในการโจมตี หรือไม่ก็อาจโดยขโมยข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้ วิ่งที่ผู้ใช้ทั่วไปควรทำคือ
      - การพยายาม Update Patch ใหม่ๆที่ออกมาสำหรับระบบปฏิบัติการอยู่อย่างสมำเสมอ
      - Update Virus DataFile จากบริษัทผู้ผลิตอยู่เสมอ (ควรใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเท่านั้น)
      - ไม่ควรเปิดไฟล์แนบที่มากับอีเมล์โดยส่งมาจากคนที่เราไม่รู้จัก แต่หากมาจากคนที่เรารู้จักแต่มีข้อความแปลกๆที่ดูไม่น่าเชื่อถือได้ อย่าเปิดไฟล์แนบมาเป็นอันขาด
      - Password ที่ใช้ในการสมัครใช้งานต่างๆบนอินเตอร์เน็ต ควรแตกต่างจาก Password ที่ใช้งานสำหรับอีเมล์ เพื่อป้องกันไม่ใช้ผู้ไม่หวังดีที่สามารถแฮกข้อมูลจากเว็บไซต์หรือบริการบนอินเตอร์เน็ต เข้าถึงข้อมูลของเราได้
      - ไม่เก็บ Password และข้อมูลทางการเงินต่างๆ เช่นเลขบัญชีและหมายเลขบัตรเครดิต เอาไว้บนเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือบนอินเตอร์เน็ต
      - เมื่อต้องการจะซื้อของต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ต หรือทำธุรกรรมใดๆบนอินเตอร์เน็ต จะต้องสังเกตุให้ดีว่าใช้โปรโตคอล HTTPS ไม่ใช้ HTTP เท่านั้น เนื่องจาก HTTPS จะมีการเข้ารหัสข้อมูลระหว่างเครื่องของเรากับเครื่องแม่ข่ายของผู้ให้บริการแล้ว
    2. องค์กร 
      ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีขีดความสามารถในการดูแลตัวเองได้มักจะมีระบบป้องกันที่ดีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Firewall หรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับการป้องกันโดยเฉพาะ แต่องค์กรขนาดเล็กหรือเปิดให้บริการต่างๆผ่านระบบ Web Hosting นี่สิที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากโดยมากมักจะไม่มีการออกแบบการป้องกันที่ดีเพียงพอ นอกจากว่าบริษัทผู้ให้บริการ Web Hosting นั้น มีศักยภาพเพียงพอ ยังไงหากองค์กรของท่านยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของการป้องกันการแฮกข้อมูลจากแฮกเกอร์ ตราบใดที่บริษัทของท่านยังไม่มีชื่อเสียงก็น่าจะปลอดภัยหรือวางใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเริ่มมีชื่อเสียงแล้วนั้น ท่านจะโดยท้าทายจากกลุ่มของแฮกเกอร์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นท่านจึงควรเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เอาไว้ด้วยนะครับ


    เอกสารอ้างอิง
    • Mills, E. (2010B), "Behind the China Attacks on Google (FAQ)", CNET, http://bit.ly/8U27Ic
    • Mills, E. (2010A), "New IE hole exploited in attacks on U.S. firms", CNET, http://bit.ly/5VjPKx
    • Drummond, D. (2010), "A New Approach to China", Official Google Blog, http://bit.ly/8fqmxm
    • Girouard, Dave. (2010), "Keeping Your Data Safe", Official Google Blog, http://bit.ly/8GkPvQ
    • Cha, A.E. and Nakashima, E. (2010), "Google China Cyberattack Part of Vast Espionage Campaign, experts say", The Washington Post,  http://bit.ly/7FjkpT
    • Helft, M. (2010), "For Google, a Threat to China With Little Revenue at Stake", NYTIMES.COM, http://bit.ly/7jybbj

    วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

    ระวังการหลอกลวงในการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ






    โดย ดร.ปริญ เฟื่องวุฒิ
    Creative Commons License




    ภาพจาก newstatesman.com [http://bit.ly/5lF5wb]

    จากข้อมูล CNN (2010) สามารถสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีความรุนแรงในระดับ 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งเทียบได้กับพลังของการระเบิดนิวเคลียร์หลายลูก โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเกิดขึ้นลึกลงไปในพื้นดิน 8 กิโลเมตรและห่างจากเมืองหลวงของเฮติเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น และสามารถรับความสะเทือนจากแผ่นดินไหวไปไกลถึง 200 กิโลเมตรทีเดียว มีคนประมาณ 1/3 (ประมาณ 3 ล้านคน) ของประชากรเฮติทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้  และอาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 คน

    แน่นอนสำหรับความคิดแรกของคนที่มีกำลังด้านการเงินคือเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร แต่ละประเทศต่างๆออกมากล่าวถึงแผนการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆมากมาย แต่เชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะขยายตัวเป็นวงกว้างทั้งเรื่องของสาธารณสุข ครอบครัว และอีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต ในด้านความช่วยเหลือระดับประเทศดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก แต่ความช่วยเหลือจากประชาชนจากประเทศต่างๆที่กำลังจะไหลรินไปยังเฮติ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

    ในยุคของอินเตอร์เน็ตครองเมืองและกลายเป็นหนึ่งในสิ่งในชีวิตประจำวันที่ประชากรเป็นพันล้านคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสรีและใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร ในการเรียน ในการทำงาน แม้แต่ในงานอดิเรก การเข้าอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ใช้โทรศัพท์มือถือเข้าใช้งานในอินเตอร์เน็ตเพื่อติดต่อกับเครือข่ายสังคมของตนเองผ่านบริการเครือข่ายสังคมยอดนิยมอย่างเช่น Facebook และ Twitter ซึ่งภาพแรกๆของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ ก็มาจากผู้ใช้งานใน Twitter

    กลลวงฉ้อฉลต่างๆที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้โดยอ้างแหล่งที่มาจากองค์กรการกุศลต่างๆ เป็นเรื่องที่พวกเราจำเป็นต้องตระหนักและระวังตัวเพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อจากความเห็นอกเห็นใจและต้องการจะช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ของเราที่เฮติ ล่าสุด FBI ได้ออกคำเตือนออกมาเพื่อเตือนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงที่ใช้เครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง

    FBI (2010) ออกมาประกาศเตือนดังนี้

    - อย่าตอบรับอีเมล์ลวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มี URL Link ที่มากับอีเมล์ (ส่วนใหญ่จะอ้างถึงองค์กรการกุศลต่างๆครับ)

    - ให้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนหากมีบุคคลหรือองค์กรขอบริจาคเงินผ่านอีเมล์หรือเครือข่ายสังคม (อย่างเช่นใน Facebook และ Twitter ครับ เมื่อเช้าผมเห็นมีให้ส่งข้อความผ่านมือถือไปโดยเขาจะคิดเงินเป็นค่าบริจาค)

    - ให้ตรวจสอบจนแน่ใจว่าองค์กรการกุศลนั้นเป็นของจริง มีตัวตนจริงๆ (ใน Twitter จะต้องมีคำว่า "Verified" สำหรับ User Account ขององค์กรการกุศลนั้นด้วยครับ ถึงจะเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง

    - ระวังอีเมล์ที่บอกว่าเป็นภาพความเสียหายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งมาจากคนที่เราไม่รู้จัก โดยอาจมีไฟล์แนบที่มีไวรัสอยู่ (ซึ่งผลที่ตามมาคืออาจโดนแฮกข้อมูลไปได้ครับ ควรแน่ใจว่ามีโปรแกรมตรวจจับไวรัสคอมพิวเตอร์และมีการ Update ให้ถูกต้องเอาไว้ด้วยนะครับ)
    - หากต้องการจะบริจาคเงิน ให้ติดต่อไปที่องค์กรการกุศลเหล่านั้นโดยตรง อย่างเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นอันขาด

    - อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลด้านการเงินแก่ใครเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้ถูกนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้และเกิดความเสียหายแก่ตัวเราได้

    ยังไงก็ระวังตัวด้วยนะครับ ผู้ประสงค์ร้ายมักจะใช้ความดีของคนนี้แหละครับเป็นตัวเล่นงานและหลอกลวงเรา หากมีข้อสงสัยหรือความเสียหายเกิดขึ้น รีบแจ้งความทันทีครับ

    เอกสารอ้างอิง
    - McCarth, C (2010), "In urgent times, avoiding online charity scams", CNET.COM, http://bit.ly/70JUvw
    - FBI (2010),"Haitian Earthquake Relief Fraud Alert",FBI.GOV, http://bit.ly/8XasgQ
    - CNN (2010), "Complete Coverage on Haiti Earthquake",CNN.COM, http://bit.ly/4ANhxi
    - NewStatesman (2010), "Haiti earthquake: in pictures...", New Statesman, http://bit.ly/5lF5wb

    Creative Commons License
    This work is licensed under a Creative Commons Attribution-Noncommercial-No Derivative Works 3.0 Thailand License.